06 Jan ประทีปธรรม เรื่อง หลักราชการ ตอน ความเพียร
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์หลักราชการ ตอน ความเพียรไว้ว่า “ความเพียร คือ ความกล้าหาญ ไม่ท้อต่อความยากและบากบั่นเพื่อจะข้ามความขัดข้องให้จงได้ โดยใช้ความอุตสาหวิริยภาพมิให้ลดหย่อน” ทรงอธิบายเพิ่มเติมว่าความเพียรไม่ได้เกี่ยวกับการมีวิชามากหรือน้อยคนที่ไม่มีวิชาเลย ก็อาจจะเป็นคนที่มีความเพียรได้ และถ้าเป็นคนมีความเพียรแล้ว บางทีก็อาจได้เปรียบผู้มีวิชาแต่ขาดความเพียร คนมีวิชามักจะลืมคำนึงถึงข้อนี้จึงไม่เข้าใจว่า เหตุใดผู้มีวิชาน้อยกว่าตน จึงกลับได้ดีมากกว่าและลืมนึกไปว่า วิชานั้นจะเป็นคุณสมบัติโดยจำเพาะบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดหรือหมู่หนึ่งหมู่ใดก็หามิได้ วิชาความรู่ย่อมเป็นของกลางสำหรับโลก เป็นทรัพย์อันไม่มีเวลาสิ้นสุด ผู้ที่ไม่อวดรู้แต่ตั้งความเพียรให้สม่ำเสมอไปจึงมักเดินทัน และแข่งขึ้นหน้าผู้มีวิชาท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด
ความเพียรจึงเป็นเครื่องแก้ปัญหา ๆ อย่าง อะไรที่ไม่สำเร็จด้วยวิธีอื่น ย่อมสำเร็จด้วยความเพียร สิ่งที่ควรคำนึงถึงก็คืออุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างใช้ความเพียรนั้น อาจทำให้ผู้ปฏิบัติท้อแท้หมดกำลังใจได้ดังนั้น จะต้องใช้คุณธรรมอื่น ๆ ช่วยความเพียร เพื่อให้เกิดความกล้าแข็งมีพลังมากขึ้น จึงจะชนะอุปสรรคได้ คุณธรรมที่สำคัญ ได้แก่
สัจจะ ความจริงใจ คือ ประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง
ขันติ ความอดทนไม่กลัวความลำบาก
มัตตัญญุตา ความรู้จักพอดี ไม่ทำตึงหรือหย่อนเกินไป
ปัญญา ความรู้จักปัญหาและวิธีแก้ปัญหา
หากผู้ปฏิบัติราชการทั้งหลาย ได้ใช้ความขยันหมั่นเพียรที่มีอยู่แล้วนั้น โดยมีคุณธรรมดังกล่าวกำกับด้วยทุกครั้งอย่างเหมาะสม ย่อมจะก้าวล่วงปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ยากนัก ดังคำพระที่ว่า “วิริเยนะ ทุกขะมัจเจติ” คนจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร
ที่มา: หนังสือนาวิกศาสตร์