29 Nov เรื่องเล่าชาวเรือ: ธรรมเนียมและมารยาทบนดาดฟ้าเรือ
ธรรมเนียมและมารยาทบนดาดฟ้าเรือ
การนำเรือเล็ก (เรือยนต์หรือเรือโบต) เทียบบันไดเรือใหญ่เป็นหน้าที่ของนายท้ายจะต้องนำเรือเทียบให้พอเหมาะที่นายทหารเรือหรือแขกจะก้าวขึ้น-ลงบันไดได้โดยสะดวก โดยต้องจัดกะลาสีหัวและท้ายเรือไว้คอยยึดเรือใหญ่ด้วยขอตะเพราและแต่งเรือเล็กให้ขนานกับบันไดอยู่เสมอเพื่อป้องกันเรือเล็กกระแทกบันไดเวลามีคลื่นลมด้วยและสะดวกต่อการขึ้น – ลง ทั้งคนและสิ่งของ สมัยโบราณจะจัดกะลาสีลงไปคอยยืดจับเรือเล็กที่ปลายบันไดเรือใหญ่ด้วย
ดาดฟ้าท้ายเรือกราบขวาจัดไว้สำหรับนายพลเรือหรือผู้บังคับการเรือและกราบซ้ายสำหรับนายทหารชั้นสัญญาบัตรส่วนดาดฟ้ายกหัวเรือกราบขวาเป็นที่สำหรับนายทหารชั้นประทวน สำหรับดาดฟ้าใหญ่นั้นเป็นที่สำหรับกะลาสีเรือได้ทำงานพักผ่อนและรื่นเริงกัน นายพลเรือและผู้บังคับการเรือสมัยเรือใบจะต้องจัดที่บนดาดฟ้ายกท้ายเรือด้านเหนือลมให้เสมอ
ปัจจุบันเรือรบในราชนาวีไทยส่วนมากจัดดาดฟ้าท้ายเรือไว้สำหรับนายทหารและผู้บังคับการแยกเป็นพิเศษ ส่วนพลทหารอยู่หัวเรือสุดต่อมาเป็นพันจ่าและจ่า นอกจากเรือสมัยใหม่บางลำได้จัดที่สำหรับผู้บังคับการเรือและนายทหารไว้กลางลำก็มีทางเดินบนดาดฟ้าเรือ
กำหนดให้นายทหารชั้นสัญญาบัตรเดินทางกราบขวาและนายทหารชั้นประทวนกับพลทหารเดินทางกราบซ้าย แต่ในเวลาปฏิบัติงานเร่งด่วนหรือจำเป็นอนุญาตให้ใช้ได้ทั้งสองกราบ การเดินส่วนกันในที่แคบ เช่น ช่องทางเดินบันได ผู้มีอาวุโสน้อยต้องหยุดและแอบข้างทาง หลีกให้ผู้มีอาวุโสสูงผ่านไปก่อน หากเดินไปด้วยกันกรณีการตรวจการสั่งงานผู้น้อยต้องเดินเฉียงซ้ายระดับต่ำกว่าผู้ใหญ่เสมอ ถ้าคนมาก ยอมให้เฉียงขวาต่ำได้อีกแถวหนึ่ง
ที่มา: นิตยสารนาวิกศาสตร์