06 Dec เรื่องเล่าชาวเรือ: SOS มิใช่เป็นคำย่อของ “Save Our Ship” หรือ “Save Our Soul”
SOS มิใช่เป็นคำย่อของ “SAVE OUR SHIP” หรือ “SAVE OUR SOUL”
ชาวเรือส่วนใหญ่คุ้นเคยกับ SOS ดี แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ยังเข้าใจที่มาของ SOS คลาดเคลื่อน SOS เป็นสัญญาณบอกเหตุว่าอยู่ในอันตราย หรือสัญญาณแจ้งเหตุร้าย (Distress Signal) ที่ใช้โดยการแสดงด้วยรหัส Morse Code ซึ่งชาวอเมริกันชื่อนาย Morse เป็นผู้คิดขึ้นใช้ในกิจการโทรเลขในศตวรรษที่ 19
สัญญาณ SOS ถูกใช้เป็นครั้งแรกสำหรับการช่วยเหลือชาวเรือ โดยรัฐบาลของประเทศเยอรมณี ซึ่งเกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับด้านวิทยุ เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ.1905 ต่อมาได้รับการยอมรับและนำไปใช้เป็นหลักสากล เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม ค.ศ.1908 และ SOS ได้ถูกใช้กันเป็นสัญญาณแจ้งเหตุร้ายในทะเลเกือบศตวรรษ กล่าวคือถึงปี ค.ศ.1999 ถูกใช้แทนโดย Global Maritime and Safety System อย่างไรก็ตาม SOS ยังคงเป็นที่จดจำและปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นสัญญาณบอกเหตุร้ายในทะเลทางทัศนะสัญญาณ
ที่มาของ SOS หากดูจากรหัส Morse SOS เป็นการเรียงจุดและขีดยาวอย่างต่อเนื่อง(ไม่เว้นวรรณ)เป็น … — … เป็นการง่ายต่อการจดจำและการส่งสัญญาณ ไม่สับสน ในครั้งแรกที่คิดการนำ SOS มาใช้นั้นมาจากเหตุผลที่กล่าวนี้ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความหมายของมัน ในปัจจุบัน SOS มักเขียนอย่างเป็นทางการโดยมีขีดยาวบนตัวอักษรทั้งสามคือ SOS
ในการปฏิบัติมักหมายถึง Save Our Ship หรือ Save On Souls หรือ Send Out Succour (Succour = ความช่วยเหลือ)
ที่มา: นิตยสารนาวิกศาสตร์